เตยหนู ๔

Mapania palustris (Hassk. ex Steud.) Fern.-Vill. et Naves var. palustris

ชื่ออื่น ๆ
กกเตยใบยาว (ทั่วไป)
ไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดินสั้น ลำต้นเหนือดินรูปทรงกระบอกหรือรูปสามเหลี่ยม มีสันเป็นมุมแหลม ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปแถบ ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ คล้ายช่อกระจุกแน่น สีน้ำตาล ออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน มีวงใบประดับหลายใบรองรับ สีเขียวถึงสีเขียวแกมสีแดง สีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลอมม่วงถึงสีน้ำตาลเข้ม ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด รูปทรงรี ไร้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล

เตยหนูชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดินสั้น แต่ละกอมี ๒-๔ ต้น ลำต้นเหนือดินรูปทรงกระบอกหรือรูปสามเหลี่ยม มีสันเป็นมุมแหลม กว้าง ๒-๖ มม. สูง ๗-๓๗ ซม. พบบ้างที่สูงได้ถึง ๕๐ ซม. สีเขียวถึงสีน้ำตาลแดง เรียบหรือมีขนสาก มีเกล็ดหุ้มอยู่ที่โคน รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๐.๖-๒.๘ ซม. ยาว ๑-๑๖ ซม. ปลายมักแหลมถึงมน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓ แถว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๔.๗ ซม. ยาว ๐.๗-๒ ม. ปลายเรียวแหลมยาวถึงแหลมเข็ม โคนสอบเรียวจนถึงกาบ ขอบเรียบถึงจักฟันเลื่อยถี่และมีขนสาก มีเส้นจากโคนใบเด่นชัด ๓ เส้น แผ่นใบมักหนาคล้ายแผ่นหนัง เรียบถึงพับเป็นสันคู่ กาบใบสีน้ำตาลแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม กว้าง ๑.๔-๓.๙ ซม. ยาว ๙-๒๒ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ คล้ายช่อกระจุกแน่น สีน้ำตาล รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๗-๕ ซม. ออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน มีวงใบประดับหลายใบรองรับ ใบประดับรูปคล้ายกาบช่อดอกย่อย สีเขียวถึงสีเขียวแกมสีแดง สีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลอมม่วงถึงสีน้ำตาลเข้ม รูปไข่ถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๕-๒.๘ ซม. ยาว ๐.๗-๓.๔ ซม. ปลายแหลมถึงค่อนข้างมน หนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงถึงมีขนสากโดยเฉพาะที่ขอบและตามเส้นกลางใบ ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด มี ๑-๒๐ ช่อ หรืออาจมีมากกว่า ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด สีน้ำตาล ช่อแขนงย่อยรูปทรงรี กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๓ ซม. แต่ละช่อแขนงย่อยมีใบประดับรองรับหลายใบ เรียงเวียนรอบแกนกลาง รูปใบหอก กว้าง ๑.๖-๒.๒ มม. ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ปลายค่อนข้างมน แต่ละใบประดับรองรับช่อแขนงย่อยมีช่อดอกย่อย ๑ ช่อ แต่ละช่อย่อยมีดอกย่อยเพศผู้ ๓ ดอกออกที่โคน และมีดอกย่อยเพศเมีย ๑ ดอกออกที่ปลาย แต่ละดอกย่อยมีใบประดับดอกย่อยรองรับ ใบประดับดอกย่อยเพศผู้ ๒ ใบที่โคนช่อดอกย่อยรูปแถบถึงรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๑-๑.๔ มม. ยาว ๐.๖-๑.๔ ซม. ปลายแหลม ด้านหลังพับเป็นสัน ผิวมีขนสากกระจายทั่ว ใบประดับดอกย่อยที่เหลือรองรับดอกย่อยเพศผู้ ดอกย่อยเพศเมียและดอกย่อยลดรูปรูปแถบ


กว้าง ๐.๔-๐.๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. ปลายแหลม ด้านหลังพับเป็นสันหรือเรียบ เกลี้ยง ไร้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร อับเรณูสีขาว รูปแถบ ยาว ๒.๘-๔ มม. ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๑.๔ ซม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๕-๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกยาวได้ถึง ๔ มม.

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๓-๓.๕ มม. ยาว ๓.๕-๕ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน โคนคอดเป็นก้านสั้น เมล็ดรูปคล้ายผล

 เตยหนูชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามที่ชื้นแฉะและตามพื้นป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใช้ในงานจักสาน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยหนู ๔
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mapania palustris (Hassk. ex Steud.) Fern.-Vill. et Naves var. palustris
ชื่อสกุล
Mapania
คำระบุชนิด
palustris
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl
- Steudel, Ernst Gottlieb von
- Fernández-Villar, Celestino
- Náves, Andrés
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. palustris
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl (1811-1894)
- Steudel, Ernst Gottlieb von (1783-1856)
- Fernández-Villar, Celestino (1838-1907)
- Náves, Andrés (1839-1910)
ชื่ออื่น ๆ
กกเตยใบยาว (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์